วัดสามพระยา วรวิหาร (WAT SAM PHRA YA) 5.65

4.7 star(s) from 171 votes
165 ถนนสามเสน เขตพระนคร
Bangkok, 10200
Thailand
Add Review

About วัดสามพระยา วรวิหาร (WAT SAM PHRA YA)

วัดสามพระยา วรวิหาร (WAT SAM PHRA YA) วัดสามพระยา วรวิหาร (WAT SAM PHRA YA) is one of the popular place listed under Church/religious Organization in Bangkok , Religious Organization in Bangkok ,

Contact Details & Working Hours

Details

วัดสามพระยา เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ (วัดสามพระยา) เมื่อสมัยพระเทพเมธี (ครุฑ) ครองวัดในปีฉลู พ.ศ. ๒๔๕๖ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ครั้นถึงปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๕๘ ทางการจัดเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ จนถึงปัจจุบัน บริเวณที่ตั้งของวัด ทิศตะวันออกจนบริเวณหลังอาคารของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ทิศใต้จดถนนซอยสามพระยา ทิศตะวันตกจนลำน้ำเจ้าพระยา ทิศเหนือจดคลองบางขุนพรหม (ปัจจุบันเป็นถนนพายัพ) เนื้อที่ดินของวัดปรากฏตามแผนที่เลขหมายโฉนดในยุคปัจจุบัน ดังนี้ :-
ฉ. เลขหมาย ๒๑๘๔ ตำบลสามพระยา เขตพระนคร ระวาง ๑ น.๑ ฏ/๔ เลขที่ดิน ๓๗ หน้าสำรวจ ๑๘๔ เนื้อที่ตั้งวัด ๑๗ ไร่ ๙๒ วา
ฉ. เลขหมาย ๑๔๘ ตำบลสามพระยา เขตพระนคร ระวาง ๑ น.๑ ฏ/๔๗ หน้าสำรวจ ๒๕๙ เนื้อที่ ๒ งาน ๔ วา (ที่ธรณีสงฆ์)
ฉ. เลขหมาย ๑๕๖ ตำบลสามพระยา เขตพระนคร ระวาง ๑ น.๑ ฏ/๗ เลขที่ดิน ๔ หน้าสำรวจ ๑๕๖ เนื้อที่ ๑ งาน ๕๘ วา (ที่ธรณีสงฆ์)
เนื้อที่ดินทั้ง ๓ แปลงนี้ รวมเป็นที่ตั้งวัด (ปัจจุบัน) เนื้อที่บางส่วนเป็นอาณาบริเวณต่างหาก ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตก มีประชาชนปลูกบ้านเรือนอยู่อาศัย อนึ่ง ยังมีที่ดินซึ่งเป็นที่ธรณีสงฆ์อีก ๒ แปลง ตั้งอยู่ที่ตำบลบางยี่ขัน เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ดินประมาณ ๑๒ ไร่ ถูกตัดถนนไป ยังเหลืออยู่ประมาณ ๙ ไร่ เฉพาะที่ตั้งวัดปัจจุบันนี้ อยู่ในแขวงบางขุนพรหม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

ก่อนที่ท่านจะทราบประวัติวัดสามพระยานี้ว่า ใครเป็นผู้สร้างและปฏิสังขรณ์จะต้องย้อนกล่าวถึงลำดับสกุลวงศ์ผู้สร้างวัดนี้ ปรากฏตามเรื่องราวในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ติดต่อกับกรุงศรีอยุธยาตอนปลายสุด อันว่าด้วยสกุลวงศ์ฝ่ายขุนนางซึ่งภายหลังได้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา ได้อุทิศที่ดินอันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของตนพร้อมด้วยบริจาคทรัพย์สมบัติสร้างวัดขึ้น เพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยของบรรดาพระภิกษุสามเณรจะได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยเพื่อเป็นปัจจัยแห่งการปฏิบัติธรรม สืบต่อพระพุทธศาสนาทราบเท่าห้าพันพระวัสสาตามอย่างตามธรรมเนียมประเพณีโบราณสืบต่อกันมา

พระยานรานุกิจมนตรี (หนู) รับราชการในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ครั้งกรุงศรีอยุธยา เป็นชาวรามัญมีบุตรหลายคน แต่บุตรคนโตมีนามว่า “นายสวาสดิ์” นับเป็นชั้นที่ ๙ แห่งวงศ์รามัญในกรุงสยาม นายสวาสดิ์ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในกรมพระราชวังบวรฯ (เจ้าฟ้ากุ้ง) ต่อมาเจ้าฟ้ากุ้งเสด็จทิวงคตแล้ว พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศโปรดให้ เจ้าฟ้าอุทุมพร กรมขุนพรพินิต (เจ้าฟ้ามะเดื่อ) เป็นกรมพระราชวังบวรสืบแทน กรมพระราชวังบวรฯ ได้ทรงแต่งตั้งให้นายสวาสดิ์เป็นนายนรินทรธิเบศร์ มหาดเล็กหุ้มแพรฝ่ายวังหน้า

ภายหลังจากกรุงศรีอยุธยาได้แตกทำลายลง เมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๑๐ ในแผ่นดิน พระเจ้าอยู่หัวเอกทัศน์ กษัตริย์องค์ที่ ๓๓ นายนรินทรธิเบศร์ ได้ตกเป็นเชลยศึกของชาวพม่า ตัวเสนาบดี พร้อมทั้งแม่ทัพพม่าเห็นว่านายนรินทรธิเบศร์พูดภาษารามัญได้คล่อง ทั้งทราบว่าเป็นเชื้อชาติสายรามัญ ประกอบกับแม่ทัพนายกองพม่าพูดภาษารามัญได้ จึงมีความพอใจอุปการะนายนรินทรธิเบศร์ โดยแต่งตั้งให้เป็นที่ “กระยอสูเซียม” แปลเป็นภาษาไทยว่า “นายอำเภอใหญ่” พร้อมกับมอบหมายหน้าที่ให้คอยควบคุมดูแลเชลยไทยหนึ่งกอง มีจำนวนหนึ่งพันคน ซึ่งกวาดต้อนนำไปที่กรุงย่างกุ้ง

ภายหลังที่สมเด็จพระเจ้าตาก (สิน) ได้ตั้งตัวเป็นกษัตริย์ครอบครองกรุงธนบุรีแล้ว แม่ทัพพม่าได้มีคำสั่งให้นายนรินทรธิเบศร์ (สวาสดิ์) คุมไพร่พลชาวไทยเชลยพันคน เป็นแม่ทัพปีกหนึ่งเข้าสมทบกองทัพพม่า ภายใต้การนำของนายพลโปมะยุหง่วน ถืออาญาสิทธิ์แทนพระเจ้ากรุงอังวะ มีจำนวน ๕๐,๐๐๐ คน ยกเข้าตีเมืองเชียงใหม่ เจ้าพระยาอภัยมนตรี ซึ่งเป็นแม่ทัพฝ่ายไทยของพม่า และเป็นผู้ควบคุมคนไทย ๑,๐๐๐ คน ซึ่งนายนรินทรธิเบศร์เป็นหัวหน้าเกิดป่วยหนักลง และถึงแก่กรรมที่เมืองเชียงใหม่ นายนรินทรธิเบศร์กับนายแสงบุตรเจ้าพระยาอภัยมนตรีพร้อมกับพวกคนไทยอีกรวม ๕๗ คน พากันหลบหนีกองทัพพม่าเข้ามาสวามิภักดิ์ต่อกองทัพของเจ้าพระยาจักรีสมุหนายก (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก)

ในรัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรี นายนรินทรธิเบศร์ (สวาสดิ์) ได้เข้ารับราชการในกรมมหาดไทยแห่งกรุงธนบุรีมีความดีความชอบในราชการเป็นลำดับมา สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เป็นหลวงชาติสุเรนทร ต่อมาหลวงชาติสุเรนทรรับอาสาไปตีค่ายพม่าที่ตำบลลาดหญ้า แขวงเมืองกาญจนบุรี แตกยับเยิน จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็นพระมหาสงคราม (สวาสดิ์) ต่อมาสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีให้ไปตรีเมืองนันทายมาศ (ญวน) พร้อมทั้งอยู่ปกครองชั่วระยะหนึ่ง จึงโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนศักดิ์สูงขึ้นเป็น พระยาราชสงคราม (สวาสดิ์) ตำแหน่งจางวางกรมทหาร ในพระราชวังหลวง

พระยาราชสงคราม (สวาสดิ์) มีภรรยาคนหนึ่งชื่อ “ลมุน” คุณหญิงลมุนเป็นบุตรีของพระยาวิจิตรนาวี ข้าหลวงเดิมของพระเจ้ากรุงธนบุรี บ้านเดิมอยู่ริมวัดหงส์รัตนาราม คลองบางกอกใหญ่ ธนบุรี พระยาราชสงคราม (สวาสดิ์) แต่ครั้งมีบรรดาศักดิ์เป็นนายนรินทรธิเบศร์ มหาดเล็กหุ้มแพรฝ่ายวังหน้านั้น ปรากฏว่า เป็นผู้มีฝีมือดีเป็นพิเศษในการช่างไม้ เพราะเคยเป็นนายงานคุมช่างไม้เครื่องอยู่ในความบังคับบัญชาของเจ้าพระยาราชสงคราม (ปาน) คราวชะลอพระพุทธไสยาสน์ วัดป่าโมก จังหวัดอ่างทอง ความสามารถในฝีมือจะเห็นได้ในคราวซ่อมแซมมหาปราสาท พระราชมณเฑียรสถานพิมานหลายแห่ง สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี จึงโปรดให้เป็นแม่กองออกแบบพระมณฑปจตุรมุข ๔ ชั้น มียอดนพศูรย์ เหมปราสาท ๕ ยอด ยอดหนึ่งตั้งอยู่กลางมุขทั้ง ๔ อีก ๔ ยอด อยู่บนหลังคาทั้ง ๔ ด้าน ที่คอระฆังใต้ยอดนพศูรย์นั้น ให้มีรูปพรหมพักตร์ประดับรอบทั้ง ๔ ด้าน ทำตามแบบอย่างพระที่นั่งเบญจรัตนมหาปราสาทในแผ่นดินพระเจ้าอู่ทอง ครั้นออกแบบแล้วจึงนำทูลเกล้าถวายสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระองค์รับสั่งว่า “หากว่างจากราชการทัพเมื่อใด เราจะทำมณฑปพระพุทธบาท ตามตัวอย่างที่พระยาราชสงคราม (สวาสดิ์) เขียนขึ้นนี้ให้จงได้” ทรงโปรดบำเหน็จความชอบพระราชทานเครื่องอิศริยยศ มีเจียด กระบี่ พานหมาก คนโทน้ำ และกระโถนทองคำ แก่พระยาราชสงคราม (สวาสดิ์) พร้อมรับสั่งให้ไปจัดสร้างศาลารีบังร่มรอบพระพุทธบาทนั้น

พระยาราชสงคราม (สวาสดิ์) มีบุตรธิดากับคุณหญิงลมุน ๔ คน ตามลำดับดังนี้
๑. นายตรุษ
๒. นายสราท
๓. หญิงสุดใจ
๔. หญิงพวา

ภายหลังจากกรุงธนบุรีถึงกาลวิบัติเนื่องด้วยสมเด็จพระเจ้าตาก สำคัญพระองค์ผิดว่า เป็นพระอริยบุคคล พระยาราชสงคราม (สวาสดิ์) ก็ถึงแก่อนิจกรรมต่อกันมาไม่นานนัก เคหะสถานบ้านเรือนของพระยาราชสงครามนั้น ตั้งอยู่ที่บ้านลาน อาชีพของบุตรธิดารวม ๔ คนนั้นเป็นผู้ควบคุมดูแลจัดการให้คนงานปลูกต้นลานซึ่งผูกขาดจากหลวง ทำการเพราะปลูกที่บ้านตะไน แขวงเมืองนนทบุรี ติดต่อกันกับปทุมธานี ต้นลานที่กล่าวมานี้เฉพาะใบสำหรับจารหนังสือตำราเรียนของพระสงฆ์ในยุคนั้นและยุคต่อมา ก่อนที่พระยาราชสงครามผู้บิดาจะถึงแก่อนิจกรรมนั้น นายตรุษบุตรชายคนโตไปได้ภรรยามีหลักฐานอยู่ที่ปากคลองบางกรวย ตรงกันข้ามวัดพลับพลา เมืองนนทบุรี ส่วนหญิงที่มีชื่อว่า สุดใจ บุตรีคนที่สาม และหญิงพวาคนสุดท้าย ก็ได้แต่งงานออกเรือนไป ฉะนั้น เรือนที่อยู่อาศัยจึงตกเป็นของนายสราท บุตรที่คนสองแต่เพียงผู้เดียว

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บุตรของพระยาราชสงคราม เข้ารับราชการ คือ โปรดเกล้าฯ ให้นายตรุษได้รับพระราชบรรดาศักดิ์เป็นหลวงวิสุทธิโยธามาตย์ เจ้ากรมทหารใน และโปรดเกล้าฯ ให้นายสราท คนน้องเป็นขุนพรหม ตำแหน่งปลัดกรมทหารใน กับทั้งโปรดเกล้าฯ ให้นายเป๋า บุตรพระยาราชสงคราม (ปาน) ที่ชะลอพระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมก ครั้งกรุงเก่า เป็นพระยาราชสงครามจางวางกรมทหารในพระราชวังหลวง (ภายหลังเลื่อนขึ้นเป็นพระยาเพชรพิไชย) พร้อมในคราวเดียวกันด้วย

ดังได้กล่าวมาแล้วว่า พระเจ้ากรุงธนบุรีมีพระราชปรารภจะทรงกระทำมณฑปพระพุทธบาทให้เป็น ๕ ยอด แต่ยังมีงานพระราชสงครามติดพันอยู่ ไม่สามารถจะดำเนินงานได้ จึงทรงรอยับยั้งไว้จนเสร็จแผ่นดินจวนจบแผ่นดินพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชสงคราม (เป๋า) เป็นแม่กองบัญชาการค่ายข้างพระมณฑป พร้อมกับโปรดให้หลวงวิสุทธิโยธามาตย์ (ตรุษ) และขุนพรหม (สราท) สองพี่น้อง เป็นนายช่างฝีมือเดินทางไปก่อสร้าง พระมณฑปพระพุทธบาทที่สระบุรี ทำการควบคุมให้ได้ตามแบบอย่างของพระยาราชสงคราม (สวาสดิ์) ผู้เป็นบิดาทุกประการ เนื่องจากในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศแห่งกรุงศรีอยุธยา ขณะที่พม่าล้อมกรุงศรีอยุธยา ใน พ.ศ. ๒๓๐๙ พวกจีนซึ่งอาสาสู้ศึกและตั้งค่ายที่ตำบลคลองสวนพลู ได้ยกพวกขึ้นไปยังพระพุทธบาท ลอกเอาทองคำที่หุ้มพระมณฑปพระพุทธบาทและแผ่นเงินที่ปูลาดพื้นพระมณฑปไป แล้วเผาพระมณฑปด้วย ครั้นถึงรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แห่งกรุงธนบุรี บ้านเมืองยังอยู่ในช่วงศึกสงคราม ไม่มีเวลาบูรณะพระพุทธบาทอันเป็นปูชนียสถานสำคัญของชาติ เพียงแต่โปรดเกล้าฯ ให้ทำหลังคามุงกระเบื้องกั้นพระพุทธบาทไว้พลางก่อน

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท เสด็จขึ้นไปอำนวยการปฏิสังขรณ์พระมณฑปพระพุทธบาทเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๓๓๐ ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ดังนี้
“ฝ่ายที่กรุงเทพมหานคร เมื่อตีทัพพม่าแตกไปแล้ว เสด็จกลับยังพระมหานคร จึงทรงพระราชดำริว่า เมื่อพม่าล้อมกรุงเก่าอยู่นั้น พวกจีนคลองสวนพลูคบคิดกันขึ้นไปเอาเพลิงจุดเผาพระมณฑพระพุทธบาทเสีย เอาเครื่องประดับที่เป็นเงินทองไปสิ้น และครั้งแผ่นดินพระเจ้ากรุงธนบุรีให้ขึ้นไปทำ ก็ทำแต่หลังคามุงกระเบื้องกั้นพระพุทธบาทไว้พลาง ยังหาได้สร้างพระมณฑปขึ้นดังเก่าไม่ ได้โปรดให้พระยาราชสงครามเป็นแม่กองปรุงตัวไม้เครื่องพระมณฑปไว้แต่ยังไม่สำเร็จ จึงมีพระราชโองการดำรัสสั่งให้สมเด็จพระอนุราชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จขึ้นไปเป็นแม่กองยกพระมณฑปพระพุทธบาท....”

แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า พระยาราชสงคราม (เป๋า) หลวงวิสุทธิโยธามาตย์ (ตรุษ) และขุนพรหม (สราท) ทั้ง ๓ ท่านนี้ ขึ้นไปทำการก่อสร้างพระมณฑปยังมิทันจะแล้วเสร็จ ปรากฏว่าขุนพรหมได้ล้มป่วยลงด้วยไข้ป่า และถึงแก่กรรมในเวลาต่อมาที่บ้านพักท้ายพิกุล จึงได้ทำการฌาปนกิจศพที่นั่นเอง ภายหลังจากนั้นเป็นเวลาล่วงเลยได้ ๒ ปีเศษ ท่านทั้งสองจึงได้ทำการสำเร็จตามพระราชประสงค์ จากนั้นหลวงวิสุทธิโยธามาตย์จึงเดินกลับมาอยู่ที่บ้านภรรยา ต่อมาเพื่อจะให้เป็นผลบุญพร้อมทั้งเป็นอนุสรณ์ติดตามขุนพรหม (สราท) ผู้น้องชาย หลวงวิสุทธิโยธามาตย์พร้อมด้วยวงศาคณาญาติจึงร่วมใจกันยกที่ดินพร้อมทั้งบ้านเรือนของขุนพรหม ซึ่งในสมัยนั้นเรียกกันว่า “บ้านลาน” อยู่เหนือปากคลองบางลำพู สร้างถวายอุทิศขึ้นเป็นวัด เรียกชื่อกันว่า “วัดบางขุนพรหม” และก็เป็นผลที่ทำให้นามของบ้านในอาณาเขตนั้น ซึ่งเดิมมาเรียกกันว่า “บ้านลาน” กลับกลายเป็นหมู่บ้านตำบลบ้านบางขุนพรหมจนถึงปัจจุบันนี้

มูลเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงนามวัดจากคำว่า “วัดบางขุนพรหม” มาเป็น “วัดสามพระยา” นั้น จะได้กล่าวต่อไปข้างหน้า ตอนนี้จะขอกล่าวแทรกย้อนถึงธิดาสองคน ซึ่งเป็นบุตรีของพระยาราชสงคราม (สวาสดิ์) และน้องสาวของขุนพรหม (สราท) ซึ่งทั้งสองคนได้แต่งงานไปแล้ว ก่อนที่ขุนพรหมผู้พี่จะวายชนม์ อันจะเป็นผลที่จะให้เกิดเปลี่ยนแปลงนามของวัด ดังต่อไปนี้

ในเชื้อสายตระกูลรามัญชั้นหนึ่ง สืบเนื่องมาจากกรุงศรีอยุธยาต่อกับกรุงธนบุรีมีตระกูลมอญชื่อว่า “สมิงนรเดชะ” นามเดิมเรียกชื่อกันว่า “มะปุ๊” เข้าถวายตัวรับราชการเป็นมหาดเล็กหลวงในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นขุนภักดีณรงค์ ตำแหน่งเจ้ากรมไพร่หลวง ครั้นกรุงศรีอยุธยาถึงกาลวิบัติ ขุนภักดีณรงค์ “มะปุ๊” เข้ามารับราชการในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี จนมีความชอบในราชการเลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็น พระยาเพชรราชา (ตำแหน่งจางวางกรมพระนครบาล) พระยาเพชรราชา “มะปุ๊” มีบุตรด้วยภรรยาซึ่งไม่ปรากฏนามรวม ๘ คน
๑. นายบุญคง (พระยานรานุกิจมนตรี)
๒. หญิงทองอินทร์ (ท่านหญิงในพระยาจ่าแสนยากร) (ทุเรียน)
๓. นายมะโน๊ก (เจ้าพระยารามัญจักรี)
๔. นายคุ้ม (พระยาสุรเสนา)
๕. นายนก (พระยาศรีสรราชา)
๖. นายมะทอเปิ้น (พระยาสุรินทรามาตย์)
๗. นายสน (พระยาไกรโกษา)
๘. หญิงน้อย (ท่านหญิงในพระยาจุฬาราชมนตรี) (เลื่อน)

คนที่หนึ่งเป็นชายชื่อบุญคง เข้ารับราชการฝ่ายพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ในรัชกาลที่ ๑ ได้รับบรรดาศักดิ์เป็น พระยานรานุกิจมนตรี ตำแหน่งจางวางกรมพระสุรัสวดี พระยานรานุกิจมนตรีท่านนี้ได้ทำการสมรสกับ “หญิงสุดใจ” ซึ่งเป็นน้องสาวของท่านขุนพรหม (สราท)

คนที่สองเป็นหญิงชื่อทองอินทร์ ภายหลังได้เป็นท่านผู้หญิงในพระยาจ่าแสนยากร (ทุเรียน) อธิบดีกรมมหาดไทย ในฝ่ายพระราชวังบวรฯ กรุงรัตนโกสินทร์

คนที่สามเป็นชายชื่อมะโน๊ก มีวาสนายิ่งกว่าบรรดาพี่น้องทุกคน คือ ได้เป็นถึงเจ้าพระยารามัญจักรี ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี แต่บั้นปลายชีวิตต้องได้รับพระราชอาญาถึงประหารชีวิตในรัชกาลที่ ๑ เพราะไปเข้ากับพวกพระยาสรรค์ยกกำลังเข้าต่อสู้กับพระเจ้าหลานเธอ กรมพระราชวังหลัง

คนที่สี่เป็นชายชื่อคุ้ม เป็นพระยาสุรเสนา ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

คนที่ห้าเป็นชายชื่อนก เป็นพระยาศรีสรราชา ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

คนที่หกเป็นชายชื่อมะทอเปิ้น เป็นพระยาสุรินทรามาตย์ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จ
พระพุทธเลิศหล้านภาลัย

คนที่เจ็ดเป็นชายชื่อสน เป็นพระยาไกรโกษา ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

คนที่แปดเป็นหญิงชื่อน้อย ได้เป็นท่านผู้หญิงในพระยาจุฬาราชมนตรี (เลื่อน) ทำการ อาวาหมงคลตามลัทธิธรรมเนียมประเพณีของแขกเจ้าเซ็น

เฉพาะคนที่หก คือ พระยาสุรินทรามาตย์ (มะทอเปิ้น) นี้ได้ทำการสมรสกับหญิงที่มีชื่อว่า “พวา” ซึ่งเป็นน้องสุดท้องของหลวงวิสุทธิโยธามาตย์ (ตรุษ) และขุนพรหม (สราท) เกิดบุตรชายรวม ๓ คน คือ
๑. ชายชื่อ ขุนทอง ภายหลังได้รับบรรดาศักดิ์ เป็น พระราชสุภาวดี
๒. ชายชื่อ ทองคำ ภายหลังได้รับบรรดาศักดิ์ เป็น พระยาราชนิกุล
๓. ชายชื่อ ทองห่อ ภายหลังได้รับบรรดาศักดิ์ เป็น พระยาเทพวรชุน

ท่านพระยาทั้งสามนี้ มีศักดิ์เป็นหลานของท่านขุนพรหม (สราท) ได้ดำริพร้อมกันว่า วัดบางขุนพรหม ที่ลุงใหญ่คือ หลวงวิสุทธิโยธามาตย์ (ตรุษ) ยกที่ดินพร้อมด้วยบ้านเรือนจัดสร้างเป็นวัดอุทิศถวายไว้ในพระพุทธศาสนาเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ลุงคนเล็กนั้นเป็นวัดที่มีอาณาเขตกว้างขวาง ทั้งชำรุดทรุดโทรมลงเป็นอันมาก เพราะสร้างมาเป็นเวลานานแล้ว กอร์ปด้วยลุงผู้มีนามเป็นเจ้าของวัด ไม่มีทายาทสืบสกุลวงศ์ ส่วนเราทั้ง ๓ คนพี่น้อง เสมือนหนึ่งเป็นทายาทโดยตรง ควรจะทำนุบำรุงปฏิสังขรณ์ให้รุ่งเรืองสถิตสถาพรสืบไปในเบื้องหน้า จึงพร้อมใจกันบริจาคทรัพย์ดำเนินการปฏิสังขรณ์วัดบางขุนพรหมใหม่ทั้งวัด ครั้นการปฏิสังขรณ์สำเร็จบริบูรณ์แล้ว ท่านพระยาทั้งสามจึงพร้อมใจกันขึ้นน้อมเกล้าฯ ถวายแด่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นพระอารามหลวง เมื่อปีมะแม เบญจศก พุทธศักราช ๒๓๖๖ เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรเห็นวัดบางขุนพรหมที่ท่านพระยาทั้งสามได้พร้อมใจกันบริจาคทรัพย์ปฏิสังขรณ์พร้อมทั้งก่อสร้างถาวรวัตถุขึ้นใหม่ ล้วนใหญ่โตแข็งแรงและงดงาม จึงโปรดเกล้าฯ รับขึ้นไว้ให้อยู่ในบัญชีรายชื่อพระอารามหลวง พร้อมทั้งพระราชทานนามวัดขึ้นใหม่ เพื่อให้สมกุศลเจตนาแห่งท่านพระยาทั้งสาม โดยพระราชทานนามว่า “วัดสามพระยาวรวิหาร” จัดเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร”

ผู้สร้างวัดสามพระยา นอกจากพระยาทั้งสามนั้นแล้ว ยังมีอีกท่านหนึ่งตามที่สืบถามได้ความว่า คือพระยาเกษตรรักษา (บุญชู) ซึ่งเป็นน้องคนเล็กของพระยาทั้งสาม แต่ในเวลาที่สร้างวัดนั้น ยังมีบรรดาศักดิ์เป็นพระพิพิธโภไคย จึงไม่ปรากฏชื่อในนามของผู้สร้างวัด ท่านผู้นี้ได้ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่กับครอบครัวของท่าน ณ ที่บริเวณใกล้ชิดกับวัดสามพระยานี้ และได้อุปถัมภ์บำรุงวัดตลอดมาจนถึงบุตรหลานของท่าน ซึ่งได้เจริญรอยตามเป็นลำดับมา

Map of วัดสามพระยา วรวิหาร (WAT SAM PHRA YA)

Updates from วัดสามพระยา วรวิหาร (WAT SAM PHRA YA)

Reviews of วัดสามพระยา วรวิหาร (WAT SAM PHRA YA)

   Loading comments-box...

OTHER PLACES NEAR วัดสามพระยา วรวิหาร (WAT SAM PHRA YA)